AI เทคโนโลยีเสมือนมนุษย์

ปัจจุบันนี้ สมาร์ทโฟนหลายๆค่าย เริ่มหันมาใช้งานเทคโนโลยีที่พัฒนาให้มีการตอบสนองเหมือนมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการแปลภาษา การแจ้งเตือน ปลดล็อคหน้าจอด้วยใบหน้า (FaceID) หรือการพูดคุยโต้ตอบสอบถามข้อมูล รวมถึง การถ่ายภาพเซลฟี่ (Selfie) บนสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีระบบปรับแต่งใบหน้า ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเวลานี้

เทคโนโลยีที่พัฒนาเหมือนมนุษย์ เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และวิศวกรรม ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถคล้ายมนุษย์หรือเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งเราเรียกกันว่า AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence (อาร์ตทิฟิคอล อินทอลนิจิน) หรือปัญญาประดิษฐ์  โดยมีนิยามดังนี้

นิยามของ AI

นิยามของปัญญาประดิษฐ์ มีมากมายหลากหลายอย่าง ซึ่งสามารถมองได้ใน 2 คุณลักษณะ คือ

  1. นิยามที่เน้นระบบที่เลียนแบบมนุษย์ กับ นิยามที่เน้นระบบที่มีเหตุผล (แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนมนุษย์)
  2. นิยามที่เน้นความคิดเป็นหลัก กับ นิยามที่เน้นการกระทำเป็นหลัก

ปัจจุบันงานวิจัยหลักๆของ AI จะมีแนวคิดในรูปแบบที่เน้นเหตุผลเป็นหลัก เนื่องจากการนำ AI ไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหา อาจไม่จำเป็นต้องอาศัยอารมณ์ หรือ ความรู้สึกของมนุษย์

นิยามของปัญญาประดิษฐ์ ทั้ง 2 ลักษณะจัดแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. ระบบที่คิดเหมือนมนุษย์ (Systems that think like humans) คือ ความพยายามใหม่ อันน่าตื่นเต้นที่จะทำให้คอมพิวเตอร์คิดได้เหมือนมนุษย์ สามารถเรียนรู้ แก้ปัญหา หรือ ตัดสินใจในเรื่องๆนั้นได้เช่นเดียวกันกับมนุษย์
  2. ระบบที่กระทำเหมือนมนุษย์ (Systems that act like humans) คือ การศึกษาวิธีทำให้คอมพิวเตอร์กระทำในสิ่งที่มนุษย์ทำได้เช่น
    • การสื่อสารได้ด้วยภาษาที่มนุษย์ใช้ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ตัวอย่างคือ การแปลงข้อความเป็นคำพูด และ การแปลงคำพูดเป็นข้อความ
    • มีประสาทรับสัมผัสคล้ายมนุษย์ เช่น คอมพิวเตอร์รับภาพได้โดยอุปกรณ์รับสัมผัส แล้วนำภาพไปประมวลผล
    • สามารถเคลื่อนไหวได้คล้ายมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์ช่วยงานต่าง ๆ อย่างการดูดฝุ่น เคลื่อนย้ายสิ่งของ
    • เรียนรู้ได้ โดยสามารถตรวจจับรูปแบบการเกิดของเหตุการณ์ใดๆ แล้วปรับตัวสู่สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้
  3. ระบบที่คิดอย่างมีเหตุผล (Systems that think rationally) คือ การศึกษาความสามารถในด้านสติปัญญา การคิดอย่างมีเหตุผล หรือ คิดได้อย่างถูกต้อง เช่น ใช้หลักตรรกศาสตร์ในการคิดหาคำตอบอย่างมีเหตุผล เช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญ
  4. ระบบที่กระทำอย่างมีเหตุผล (Systems that act rationally) คือ ความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่แสดงปัญญาในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยกระทำอย่างมีเหตุผล เช่น โปรแกรมที่มีความสามารถในการกระทำ หรือ เป็นตัวแทนในระบบอัตโนมัติต่าง ๆ สามารถกระทำอย่างมีเหตุผลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ เช่น โปรแกรมระบบขับรถอัตโนมัติ ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ต้องไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง ที่กำหนดเอาไว้ ในระยะทางที่สั้นที่สุด แบบนี้ คือ กระทำอย่างมีเหตุผลนั่นเอง

อย่างไรก็ตามนิยามทั้ง 4 ในมุมมอง 2 ลักษณะ ไม่ได้ต่างกันโดยสมบูรณ์ และ นิยามทั้ง 4 ต่างก็มีส่วนร่วมที่คาบเกี่ยวกันอยู่ จะขอยกตัวอย่าง หุ่นยนต์หรือซอฟต์แวร์ที่ใส่เทคโนโลยี AI เข้าไปทำให้สามารถทำงานได้เหมือนมนุษย์ เช่น

  • หุ่นอัจฉริยะของค่ายแอลจี อีเลคทรอนิคส์ หรือ LG ในสนามบินนานาชาติอินชอน เกาหลีใต้ ที่ให้บริการข้อมูลแก่ผู้โดยสารจำนวนราว 57 ล้านคนจากทั่วโลก ผ่านเสียงพูด รวมทั้งสามารถให้ช่วยเหลือนำพาผู้โดยสารที่หลงทางไปสู่จุดหมายที่ถูกต้องภายในสนามบิน
  • หุ่นยนต์น้องแสนดี (SAN:DEE Delivery Robot) ในเครือบริษัท “แสนสิริ” หุ่นยนต์ตัวแรกที่นำมาใช้ในวงการอสังหาริมทรัพย์ โดยหน้าที่ของแสนดี คือ อำนวยความสะดวกบริการส่งพัสดุ จดหมาย ถึงหน้าห้องลูกบ้าน ยกระดับเรื่องความปลอดภัย โดยป้องกันไม่ให้คนแปลกหน้าเดินขึ้นไปส่งของโดยตรงให้ลูกบ้าน
  • Chatbot ผู้ช่วยคอยตอบคำถามเบื้องต้นของลูกค้าได้ตลอดเวลา ทำให้การทำธุรกิจดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน
  • Apple Siri, Google Now, Microsoft Cortana ผู้ช่วยที่สั่งการด้วยเสียง
  • AI Smart Home ระบบบ้านอัจฉริยะจากเทคโนโลยี AI
  • FinTech ด้านการออม เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้เงิน ในบัญชีกระแสรายวันที่ไม่มีดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำโดยใช้เทคโนโลยี AI
  • Robo-advisor ผู้ช่วยด้านบริการจัดการด้านการลงทุนโดยอัตโนมัติเป็นต้น

อธิบายโดยสรุป ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ก็คือ วิทยาการด้านปัญญาที่จะมาช่วยให้มนุษย์แก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น โดยสร้างหุ่นยนต์ให้สามารถทำงานได้เหมือนมนุษย์, หรือจะใส่ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ลงไปในคอมพิวเตอร์ ให้คอมพิวเตอร์ช่วยจำลองการทำงานต่างๆ เลียนแบบพฤติกรรมของคน โดยเน้นตามแนวความคิดแบบสมองมนุษย์ที่มีการวางแผนขั้นตอนการเรียนรู้ การคิด การกระทำ การให้เหตุผล การตัดสินใจ การปรับตัว การแก้ปัญหา รวมไปถึงการเลือกแนวทางการดำเนินการในลักษณะคล้ายมนุษย์ นั้นเอง

อ้างอิง

  • บุญเสริม กิจศิริกุล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • บทความสาธารณะ Wikipedia https://th.wikipedia.org/wiki/ปัญญาประดิษฐ์
  • Aware Group : เมื่อเราพูดถึง AI คุณนึกถึงอะไร?
Message us